ประวัติความเป็นมา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตำบลสามพระยาอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีห่างจากกรุงเทพมหานคร
ตามระยะทางถนนเพชรเกษม ประมาณ 220 กิโลเมตร อันเป็นพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศเป็นเขตอภัยทานสัตว์เมื่อปีพ.ศ. 2467 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 22,627 ไร่แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นผืนป่า ขนาดใหญ่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมีพืชพรรณ
ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะเนื้อทรายเป็นสัตว์ประจำถิ่น อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และลงมากินนำ้ในลำห้วย จึงได้ชื่อว่า “ห้วยทราย” สภาพพื้นที่ตอนบนด้านฝั่งตะวันตกเป็นแหล่งต้นนำ้ลำธาร ตอนกลางของพื้นที่เป็นที่ราบมีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก ส่วนตอนล่างติดกับชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ป่าชายหาดและป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เช่นกัน

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ประกอบกับมีการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นราษฎรได้เข้ามาบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตร มีการใช้สารเคมีเกินความ
จำเป็น ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มากขึ้นเป็นลำดับในห้วงเวลาไม่ถึง 40 ปีพื้นที่ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ดินขาดการบำรุงรักษาทำให้ธรรมชาติ
ขาดความสมดุล เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลมีปริมาณฝนลดลง จนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน แต่เมื่อเวลามีฝนตก ฝนจะตกหนักประกอบกับมีลมพัดแรง จึงเป็นตัวการสำคัญ
ที่ทำให้เกิดการชะล้างพังทลาย หน้าดินถูกกัดเซาะเป็นร่องลึก เนื่องจากไม่มีพืชคลุมดินเป็นสิ่งกีดขวางการไหลบ่าของน้ำ

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ ทรงพบกับสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทรงมี
พระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า … หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด… และให้พัฒนาพื้นที่ ส่วนหนึ่งใน เขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นศูนย์

ศึกษาการพัฒนาป่าไม้อเนกประสงค์มุ่งหมายศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาแหล่ง น้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและปลูกป่า จัดสรรที่ทำกินให้กับราษฎร ที่ได้เข้ามาบุกรุกทำกินอยู่แต่เดิมให้ได้เข้าอยู่อาศัย และให้ความรู้ กับราษฎร ให้ทำการเกษตรอย่างถูกวิธีรวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการปลูกป่า ดูแลรักษาป่า ตลอดจนให้ได้รับประโยชน์จากผลผลิตของป่า เพื่อที่ราษฎรจะได้ไม่บุกรุก
ทำลายป่าอีกต่อไป และพระราชทานนามว่า“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

Scroll to Top